สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดอาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ และทอดพระเนตรนิทรรศการการพัฒนายาชีววัตถุ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน

วันที่ 24 มีนาคม 2557 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ สวนอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ในการนี้ ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ นายกสภามหาวิทยาลัย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี พร้อมผู้บริหารมหาวิทยาลัยเฝ้าฯ รับเสด็จ (ผู้แทนคณาจารย์พนักงาน และผู้แทนนักศึกษา ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัยข้อพระกร)

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ประทับพระราชอาสน์ รศ.ดร.โสฬส สุวรรณยืน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กราบบังคมทูลรายงาน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ และเบิกผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ National Biopharmaceutical Facility (NBF)”

อาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในการรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ยา ฮอร์โมน และสารมูลค่าสูงทางการแพทย์ขึ้นใช้เองในประเทศ NBF เป็นโรงงานต้นแบบที่ออกแบบและก่อสร้างขึ้นมาตรฐานสากลที่เรียกกันว่า Good Manufacturing Practice (GMP) ตามข้อกำหนดของ Pharmaceutical Inspection Convention และ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) เพื่อให้บริการหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบูรณาการการสร้างความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปภายในส่วนแสดงนิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการความเป็นมาของสวนอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บางขุนเทียน หรือ มจธ.บางขุนเทียน ซึ่งได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสวนการศึกษาและสวนอุตสาหกรรม ที่เน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนาให้เป็นเลิศ ด้านอาหารและอาหารเสริมสุขภาพ ด้านอาหารสัตว์และอาหารเสริมสุขภาพสัตว์ ด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน และด้านยาชีววัตถุ สารออกฤทธิ์ในทางการแพทย์ เน้นการวิจัยพัฒนาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และผลิตใช้ได้จริง สนับสนุนความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมของประเทศ และถือเป็นสวนการศึกษาและสวนอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย

งานวิจัยด้านยาชีววัตถุ (Biologics) ยาชีววัตถุเป็นยาที่ใช้ในกลุ่มของเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ได้แก่ วัคซีน เซรุ่ม และอิมมูโนโกลบูลิน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือดและพลาสมาของมนุษย์ ประเทศไทยมีความต้องการใช้ยาชีววัตถุเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนพื้นฐานที่ใช้ในการป้องกันโรคที่รัฐบาลให้การรักษาฟรี เช่น วัคซีนป้องกันโรคคอตีบไอกรนและบาดทะยัก ในขณะที่มีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนในประเทศเองได้น้อยชนิด วัคซีนที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เสียดุลการค้าอย่างมาก และเกิดความเสี่ยงกรณีที่ไม่สามารถหาซื้อวัคซีนใช้ได้ในภาวะขาดแคลน ซึ่งประเทศไทยยังต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนาวัคซีนขึ้นใช้เองในประเทศได้ในอนาคต
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรและหน่วยงานสนับสนุนการทำวิจัยด้านยาชีววัตถุของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 20 หน่วยงาน

จากนั้นทอดพระเนตรโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุ ปัจจุบันพื้นที่ของอาคารโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มีจำนวน 2 กระบวนการผลิต ได้แก่ โรงงานต้นแบบผลิตวัคซีน ยา และสารมูลค่าสูงทางการแพทย์ระดับความปลอดภัย BSL2 ที่ใช้กระบวนการวิศวกรรมชีวภาพชั้นสูงเพื่อการเลี้ยงจุลินทรีย์เป็นฐานการผลิต เทคโนโลยีการเลี้ยงจุลินทรีย์ และโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีน ยา และสารมูลค่าสูงทางการแพทย์ระดับความปลอดภัย BSL2 ที่ใช้กระบวนการวิศวกรรมชีวภาพชั้นสูงเพื่อการเลี้ยงเซลล์จากคนหรือสัตย์ เพื่อการผลิตวัคซีน ยา หรือสารชีวภาพมูลค่าสูง เพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงชนิดอื่น เทคโนโลยีการทำความสะอาดและการบรรจุยา เทคโนโลยีการทำโปรตีนสะอาดและบริสุทธิ์ ได้แก่ เทคโนโลยีแผ่นกรอง เป็นเทคโนโลยีการคัดแยกโปรตีนขนาดโมเลกุลออกจากสิ่งเจือปนที่อยู่ในอาหารเลี้ยงเชื้อชีวภาพ และเทคโนโลยีโครมาโตกราฟ เป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้กันมากในการทำโปรตีนหรือยาหรือสารชีวภาพบริสุทธิ์ โดยใช้กลุ่มโมเลกุลจำเพาะจับโปรตีนหรือยาที่ต้องการ

จากนั้นเสด็จฯ ขึ้นชั้น 3 เพื่อฉายพระรูปร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดที่ระลึก เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องรับรอง เมื่อถึงเวลาอันสมควรเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ