หริส สูตะบุตร

                กรมอาชีวศึกษาได้จัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีขึ้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2503 ดังนั้น ในปี 2503 นี้ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ซึ่งบัดนี้เป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงมีอายุ 30 ปี การแปรสภาพจากวิทยาลัยเทคนิคเป็นสถาบันเทคโนโลยีนั้น เป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่มีตัวอย่างมามาก เช่น MIT (Massachusetts Institute of Technology) เดิมก็เป็น Boston Tech. และบรรดา University of Technology ของอังกฤษ ก็แปรสภาพมาจากวิทยาลัยเทคนิค และโดยที่สถาบันแหล่านี้เคยเป็นวิทยาลัยเทคนิคมาก่อน จึงรักษาเอกลักษณ์ของความเข้มข้นในงานปฏิบัติ (hand-on approach) อยู่ตลอดไป

                ผมเช่นเดียวกับเพื่อน ๆ หลายคนในสถาบันพระจอมเกล้า ได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่จบมัธยม 8 ไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์ในต่างประเทศ สมัยนั้นผู้ที่สอบมัธยม 8 ได้ลำดับที่ 1-50 มีสิทธิเข้าสอบชิงทุน

                ผมไปเริ่มเรียนโรงเรียนเตรียมที่สหรัฐอเมริกา แล้วเรียนที่ MIT และ University of California at Berkeley ใช้เวลาเรียนและดูงานประมาณ 10 ปี แล้วจึงกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2508 โดยที่ไม่เคยกลับมาเมืองไทยเลยตลอดเวลา 10 ปี ดังนั้นเมื่อกลับมาถึงก็มีความรู้สึกคล้ายกับเดินทางไปประเทศที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ก็ขอยืมรถน้องขับมาจนถึงบางมดได้ เมื่อรายงานตัวก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาช่างโลหะ ซึ่งปัจจุบันเป็นภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ หลักจากนั้นไม่กี่วันก็ได้รับมอบหมายให้ร่างหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) และเตรียมการเริ่มจัดสอนในเดือนมิถุนายน 2508 ในสมัยนั้นหัวหน้าแผนกวิชาไม่มีเลขาแผนก และไม่มีเจ้าหน้าที่ธุรการ จึงต้องเหมางานทุกประเภททั้งการรับหนังสือและออกหนังสือ การแบ่งกลุ่มนักศึกษา จัดตารางสอน หาอาจารย์พิเศษ สอน ฯลฯ ดังนั้นกลางวันจะต้องทำงานประจำและประชุม ส่วนงานที่ใช้เวลานาน ๆ เช่น การวางหลักสูตร งานเตรียมสอน และตรวจการบ้านจึงต้องทำกลางคืนและวันหยุด

                ในตอนที่วิทยาลัยเทคนิคธนบุรีใกล้จะเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ได้มีเหตุที่สะเทือนใจและเป็นประสบการณ์ที่สอนให้ผมเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ดีขึ้น กล่าวคือท่านผู้อำนวยการอาจารย์ประภาท่านมีวุฒิสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต และปริญญาโททางครุศาสตร์อุตสาหกรรม จาก Wayne State University ผมมีความรู้สึกว่านักศึกษาอยากจะได้ผู้มีวุฒิทางวิศวกรรมศาสตร์มาเป็นหัวหน้าสถาบัน จึงมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ทำให้อาจารย์ประภารู้สึกว่านักศึกษาต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ท่านอาจารย์ประภาเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ได้ฟันฝ่าอุปสรรคมามากมาย และได้เป็นผู้ริเริ่มให้ก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยี นอนกจากนั้นยังเป็นที่เคารพและรักใคร่อย่างยิ่งของอาจารย์และนักศึกษาที่ได้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ผมเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงจึงได้พยายามคัดค้าน ชี้แจงหลายครั้งกับหลายกลุ่ม แต่ไม่เป็นผล ท่านอาจารย์ประภาลาออกจากราชการ บทเรียนที่ผมได้รับคือ ไม่ว่าคนเราจะทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงานที่สังกัดอยู่มากเพียงใด ถ้าวันหนึ่งคนในหน่วยงานนั้นต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเขาจะลืมว่าคน ๆ นั้นได้ทำประโยชน์มามากเพียงใด และยังคงทำงานได้ดีเพียงใด ดังนั้นจึงควรพยายามทำดี ทำประโยชน์ให้มากที่สุด แต่อย่างได้มั่นใจว่าคนอื่นเขาจะจำได้

                หลังจากที่ท่านอาจารย์ประภา ลาออก อาจารย์ไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี และผมเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2513

                เมื่อวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เป็น วิทยาเขตธนบุรี ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ผมได้รับมอบหมายให้รักษาการคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2515 และเป็นคณบดี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 หมดวาระที่ 2 และออกจากตำแหน่งคณบดีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2526

                ในระหว่างการเป็นคณบดี และหลังจากการเป็นคณบดี ผมได้รับการชักชวนให้ไปทำงานอื่นหลายครั้ง แต่ไม่เคยคิดที่จะไปทำงานที่อื่น นอกจากไปเป็นข้าราชการเมืองชั่วคราว เช่น เป็นเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่ ดร.เชาวน์ ณศิลวันต์ เป็นรัฐมนตรีในปี 2518 และเป็นที่ปรึกษารัฐนมตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ เป็นรัฐมนตรี ในปี 2520 เหตุที่ไม่คิดจะไปทำงานที่อื่นเพราะเห็นว่าการสร้างวิศวกรเป็นเรื่องสำคัญ และชอบลักษณะการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์ของบางมด คือการทำงานเป็นทีม ไม่มีการแก่งแย่งตำแหน่ง มีความหวังดีต่อกันถ้าใครจะมีผลงานดีและเด่นขึ้นมา เพื่อนๆ จะยินดีด้วยและช่วยกันเสริมสร้างให้มีผลงานดีและเด่นยิ่งขึ้น ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ ผมมีผู้บังคับบัญชาที่ดียิ่ง อาจารย์ไพบูลย์ นั้นจบมัธยม 8 หลังผม 1 รุ่น แต่จบปริญญาเอกก่อนผม 6 เดือน และเป็นผู้บังคับบัญชาของผมมาโดยตลอด ผมมีความมั่นใจในความสามารถ ความรอบคอบ สัจจะ และความกล้าที่จะสนับสนุนผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แม้จะเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวเอง จึงได้บอกกับทุนคนว่าผมยินดีเป็นลูกน้องอาจารย์ไพบูลย์ตลอดชีวิต

                “ผมทำงานที่บางมดมานาน และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกท่าน
ผมคิดว่าหลักการทำงานที่ดีคือ ให้ความเคารพนับถือและมีความจริงใจต่อทุกคน
ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน เพื่อนอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา นอกจากนี้ยังต้องมีมุทิตาจิต
(ผมจำคำสอนนี้มาจากท่านอาจารย์ประภา) คือยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

หริส สูตะบุตร

                ในด้านนักศึกษา ผมเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสโมสรนักศึกษา และบางมดมีประวัติว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสโมสรนักศึกษาและได้นายกสโมสรนักศึกษามาเป็นอาจารย์หลายคน อาทิ อ.เดช พุทธเจริญทอง, อ.เกษม สุวรรณศรี, อ.สุธี ภัทราคร, อ.ประจิตร สุขสงวน, อ.วันชัย ศิลยานันท์ และ อ.กิตติศักดิ์ พลอยพานิชเจริญ แต่เมื่อผมมาใหม่ ๆ มีปัญหากับนักศึกษาเรื่องการ “รับ” และ “อบรม” น้องใหม่มาก เพราะรู้สึกว่าให้น้องทำในสิ่งที่ไร้สาระ และมีลักษณะใกล้การข่มเหงทางร่างกายและจิตใจจึงได้ต่อต้านมาก จนมีข่าวลือว่าสมัยที่ผมอยู่จุฬาฯ คงถูกอัดมามาก (ผมอยู่คณะวิศวจุฬาฯ 2 เดือน ก่อนไปนอก) ความจริงผมไม่ใช่คนชอบซ่า จึงถูกอัดน้อยมากที่จุฬาฯ อย่างไรก็ตามต่อมาผมก็มองเห็นส่วนดีของการ “รับ” และ “อบรม” น้องใหม่ กล่าวคือการสร้างความสนิทสนมระหว่างพี่กับน้อง ทั้งในภาคและนอกภาค ในคณะและนอกคณะ และช่วยดัดให้คนที่ซ่าเกินไปหายซ่าเสียบ้าง แต่ในระยะหลังนี้ผมเห็นว่า “อบรม” น้องกันดึกเกินไป บางครั้งถึง 3 ทุ่ม และ “อบรม” กันรุนแรงเกินไปมากจนถึงกับมีผู้ปกครองหลายท่านแสดงความไม่พอใจทั้งโดยวาจาและหนังสือ ผมเห็นว่าเรื่องนี้เราจะต้องรักษาความพอดี ปีหน้าเราจะต้องช่วยกันลดความยืดยาว และความรุนแรงของการ “อบรม” อีกมาก มิฉะนั้นจะมีผู้ที่ไม่อยากมาเรียนที่บางมดเพราะไม่ชอบการ “รับ” และ “อบรม” น้องใหม่

                ในอนาคตเราจะต้องร่วมกันทุกฝ่าย นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และอาจารย์ ในการพัฒนาและสร้างชื่อเสียงให้สถาบัน เราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดีใน 2 ปี ที่ผ่านมา เช่นในเรื่องที่ดิน เพื่อสร้างสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ และอุทยานอุตสาหกรรม ตลอดจนระบบ Computer Workstation ที่ทันสมัยที่สุด และมีขีดขั้นความสามารถสูง เรากำลังติดต่อขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เรามั่นใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือ จะมากหรือน้อยเท่านั้น เราต้องร่วมกันเสียสละ เพื่อผลักดันให้สถาบันของเราพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นไปอีก จะช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ทราบกันโดยทั่วไป ถ้าถามผมว่าทำไมเมื่อสำเร็จการศึกษามาอย่างดีจะเป็น ปริญญาตรี โท หรือเอก ก็ตาม เมื่อมาเป็นอาจารย์ที่สถาบันแล้ว ทำไมจึงไม่มีเงินพอที่จะเริ่มสร้างฐานะเมื่อมีครอบครัว ผมจะตอบว่าเพราะเป็นโชคไม่ดีของเราที่เกิดเป็นคนไทยยามนี้ คนประเทศอื่นในยามอื่นจะเป็นญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ หรือเกาหลี หรืออเมริกา ก็ต้องผ่านสภาพยากลำบากมาทั้งนั้น ขณะนี้ประเทศเราอยู่ในสภาพกำลังพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ เราจะต้องร่วมกันฮึดสู้ สำหรับสถาบันเรานั้น เราก็พยายามหาทางช่วยตัวเองเพื่อทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของบรรดาอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ดีขึ้น โดยการหาทุนการศึกษา ทุนการวิจัย มาให้ และการรับงานจากหน่วยงานภายนอกผ่านศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา งานด้านนี้ของเราได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เราจำเป็นต้องมีคนดีมีความสามารถในจำนวนที่เพียงพอจึงจะสามารถยกสาถบัน ผ่านจากจุดที่ไม่สู้เป็นที่รู้จักเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงเต็มที่ ถ้าสำรวจดูจะพบว่าโรงงานอุตสาหการรมรู้จักเราดี และนิยมรับบัณฑิตจากบางมด แต่ความรู้จักนี้ยังไม่แผ่ขยายไปสู่นักเรียนมัธยมและผู้ปกครอง เราต้องผนึกกำลังกัน และใช้ความพยายามเต็มที่กันอีกสักพักหนึ่งแล้วเราจะภูมิใจได้อย่างเต็มที่ ว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของบางมด

ที่มา หนังสือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (๒๕๐๓ – ๒๕๓๓)